วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556


skip to main | skip to sidebar fR��วันพุธที่ 27 พ.ศ. 2556
แนวคิดทฤษฎีทางภาษาศาสตร์และวิวัฒนาการการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ
ผศ. ดร. ผ่องศรี มาสขาว

......การเรียนการสอนภาษาอังกฤษมีวิวัฒนาการมาหลายยุคหลายสมัย เนื้อหาที่นำเสนอต่อไปนี้เป็นการสรุปแนวคิดทฤษฎีและวิวัฒนาการของภาษาตั้งแต่ยุคโครงสร้างนิยม ยุคหลังโครงสร้างนิยม ยุคสมัยใหม่และยุคหลังสมัยใหม่ พัฒนาการของวิธีการหาความรู้เหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องแนวคิดและวิธีการเรียนการสอนภาษา ถ้าเปรียบเทียบกับพัฒนาการทางด้านอื่นเช่นเทคโนโลยีและทฤษฎีการถอดรหัสพันธุกรรมแล้ว การเปลี่ยนแปลงในเรื่องการเรียนการสอนภาษามีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามแนวคิดใหม่ตามยุคสมัย ทั้งหมด มีการนำแนวคิดทฤษฎีบางเรื่องมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแต่การดำเนินงานยังไม่ก้าวหน้าเป็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนย่อยและมิติของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษก็ยังเป็นการแยกส่วนมากกว่าการมองภาพรวม
......แนวคิดทางด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาในยุคหลังสมัยใหม่โดยรวมต่างก็ได้อิทธิพลหรือผลกระทบมาจากวิธีการหาความรู้ วิธีการคิดและวิธีวิเคราะห์ของแนวคิดหลังโครงสร้างนิยมและหลังสมัยใหม่นิยม มีจุดเริ่มต้นจากจุดเปลี่ยนทางภาษาศาสตร์ (Linguistic turns) แต่เดิมภาษาเป็นเพียงภาพแสดงตัวแทนความคิดหรือระบุชื่อคน สัตว์ สิ่งของและความคิดมนุษย์เท่านั้น แต่ในปัจจุบันภาษาคืออำนาจในการจัดระบบระเบียบ จัดประเภท ทำการแยกแยะ ภาษาสร้างและผลิตเอกลักษณ์ต่างๆขึ้นมา โดยเฉพาะการใช้ภาษาในการอ้างถึงความรู้ ความจริง ความเป็นธรรมชาติ ความเป็นวิทยาศาสตร์ จัดเป็นภาษาในระดับสูงและแสดงถึงพลังอำนาจของภาษามากขึ้นเพราะทำให้ผู้สนทนาด้วยต้องยอมจำนน ยุติการถกเถียงการโต้แย้งลง เกิดเป็นอำนาจที่แฝงอยู่ในรูปภาษา นักปรัชญาได้หันมาให้ความสนใจกับอิทธิพลของภาษาที่มีต่อวิธีคิดของมนุษย์อย่างจริงจังเป็นครั้งแรก จึงเกิดจุดหักเหของภาษาที่ใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารมาเป็นเครื่องมือทางสังคมและเป็นเครื่องมือในการต่อรองและให้ได้มาหรือเกิดขึ้นในสิ่งซึ่งมนุษย์ต้องการ (Halliday, 1994: xvii)



แนวคิดทฤษฎีภาษายุคโครงสร้าง (Structuralism)
......ภาษายุคโครงสร้าง เริ่มจากแนวคิดของแฟร์ดินอง เดอ โซซูร์ (Ferdiand de Saussure) ในระหว่างคริสตศักราช 1857 - 1913 โซซูร์ แยกภาษา (langue) และการใช้ภาษา (parole) ออกจากกันโดยเชื่อว่าภาษาเป็นเรื่องของระบบกฏเกณฑ์ และเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นและเป็นสิ่งมีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นความเคยชินที่มนุษย์กระทำโดยจิตไร้สำนึก เขาให้ความหมายของภาษาว่าเป็นระบบองค์รวมที่มีความสมบูรณ์ มีกฎเกณฑ์ และมีรูปแบบที่เป็นส่วนย่อยต่างกัน สำหรับการใช้ภาษา (parole) นั้นเป็นเรื่องของความสามารถในการใช้ภาษารวมกับการนำกฏเกณฑ์ทางภาษามาใช้ตามจารีตปฏิบัติเพื่อให้การสื่อสารนั้นเป็นไปตามระเบียบกฎเกณฑ์ และเป็นที่ยอมรับทางสังคม (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2545:13) โซซูร์แยกภาษาและสังคมออกจากกันเป็น สององค์ประกอบแต่ทั้งสองอย่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่าภาษาเป็นเรื่องของบุคคลที่ต้องซึมซับเอาไว้ในระดับจิตไร้สำนึกเพื่อให้สามารถพูดใช้ภาษาได้ การศึกษาภาษาในแนวคิดของโซซูร์จึงเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ของรูปแบบ (form) กับการใช้ภาษาที่เป็นเนื้อหาสาระ (substance)ที่เป็นนามธรรม และกล่าวว่ารูปแบบช่วยทำให้เนื้อหาสาระที่เป็นนามธรรมเกิดเป็นรูปธรรมได้ ซึ่งต่อมา ชอมสกี้(Chomsky,1965)ได้นำมาสานต่อโดยแยกแยะออกเป็นความสามารถทางภาษา (language of competence) และความสามารถทางการแสดงออกหรือความสามารถในการใช้ภาษาในแต่ละสถานการณ์ (language of performance) และยังคงใช้แนวคิดเรื่องรูปแบบมาเป็นหลักการในการค้นหาความรู้ตามแนวโครงสร้างนิยม
......สำหรับสาระสำคัญประการที่สองในความคิดของโซซูร์คือภาษาเป็นระบบสัญญะ(sign) ซึ่งสื่อถึงความคิดต่าง ๆ การศึกษารูปแบบของระบบสัญญะเรียกว่าสัญวิทยา (semiology) ในความหมายของโซซูร์ นอกจากภาษาป็นสัญญะแล้วยังรวมสัญลักษณ์อื่น ๆ ที่ใช้สื่อความหมายด้วยเช่นสีขาว สีดำ เครื่องหมายตกใจ การเว้นวรรค หรือการย่อหน้าเป็นต้น ภาษาจึงไม่ใช่การศึกษาเฉพาะเรื่องระบบเสียง คำศัพท์และไวยากรณ์แต่ยังหมายถึงการศึกษาระบบสังคมและวัฒนธรรมของภาษานั้น ความหมายของโซซูร์ในเรื่องของสัญญะมีสองลักษณะ คือความสัมพันธ์ระหว่างรูปสัญญะและความหมายของสัญญะ ตัวอย่างความหมายของสัญญะเช่น ผู้หญิง ผู้ชายซึ่งสื่อความหมายของความคิดที่ต่างกัน ตัวอย่างในระดับรูปสัญญะของภาษาที่แตกต่างกันเช่น ผู้ชาย – men , ผู้หญิง – women รูปสัญญะจะเป็นปัญหาในการเรียนรู้ภาษาใหม่ถ้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับภาษาเดิม โซซูร์ยังอธิบายเพิ่มเติมว่าถึงแม้รูปสัญญะและความหมายสัญญะจะมีความสัมพันธ์กันแต่ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างอิสระยังคงอยู่ภายใต้การยอมรับของคนในชุมชนนั้น ผู้ใช้ภาษามิได้มีส่วนในการกำหนดรูปสัญญะแต่ใช้ภาษาภายใต้กฎเกณฑ์ของภาษานั้นๆ ภาษาจึงเป็นผลมาจากสิ่งที่ถูกกำหนดให้เป็น (arbitrariness) บวกกับจารีตปฏิบัติในสังคม (conventionality)
......ในส่วนการศึกษาภาษาของโซซูร์ ประเด็นสำคัญที่เขามองข้ามคือการศึกษาภาษาในองค์ประกอบในส่วนของไวยากรณ์ เพราะโซซูร์เห็นว่าไวยากรณ์ไมใช่หน่วยพื้นฐานของภาษา ซึ่งต่อมา นอม ชอมสกี้ ได้ศึกษาเรื่องของไวยากรณ์และตั้งสำนักไวยากรณ์ใหม่ที่เรียกว่าไวยกรณ์เพิ่มพูนหรือไวยากรณ์ปริวรรต (generative transformative grammar) นับว่าเป็นจุดอ่อนของโซซูร์ที่มองข้ามความคิดสร้างสรรค์ทางไวยากรณ์ภายใต้ระบบกฎเกณฑ์ของภาษา
แนวคิดทฤษฎีภาษายุคหลังโครงสร้างนิยม (Poststructuralism)
...... ผู้ที่ได้รับอิทธิพลและสานต่อความคิดของโซซูร์คือ โคลด เลวี สโทรส (Claude Levi Strauss) ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาด้านมานุษยวิทยาแนวโครงสร้าง ได้ผนวกความคิดในแง่มุมทางด้านวัฒนธรรมและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม กับระบบโครงสร้างที่ทำให้ทุกอย่างดำรงอยู่ได้อย่างที่เป็นอยู่ ดังนั้นการศึกษาวัฒนธรรมของเขาจึงเป็นการศึกษาในระดับโครงสร้างและไม่ได้ศึกษาลงในรายละเอียดและส่วนที่เป็นปลีกย่อย
......ผู้นำการศึกษาวัฒนธรรมต่อมาคือ โรลองด์ บาร์ตส์ (Roland Barths) ศึกษาวัฒนธรรมนิยมตามยุคสมัยและให้ความเห็นแตกแนวไปจากโครงสร้างนิยมว่าในการเขียนบทประพันธ์ ผู้ประพันธ์เป็นผู้กำหนดบทประพันธ์ แต่มิใช่บทประพันธ์กำหนดผู้ประพันธ์ ตัวอย่างเช่นในการประพันธ์เรื่องราวการสืบสวนสอบสวน ผู้ประพันธ์เลือกใช้คำ สร้างความเชื่อมโยงทางภาษาในรูปแบบที่เหมาะสม เร้าใจผู้อ่าน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับแนวคิดภาษาศาสตร์โครงสร้างที่กล่าวว่าภาษาเป็นเรื่องของรูปแบบไม่ใช่เรื่องเนื้อหาสาระ ภาษาเป็นตัวกำหนดการพูด แต่มิใช่ผู้พูดเป็นผู้กำหนดภาษา สำหรับบาร์ตส์แล้วภาษาเป็นกระบวนการสื่อและการสร้างความหมายที่ไม่รู้จบ ภาษาเป็นผู้กำหนดบทบาทหน้าที่ให้กับผู้เขียน ผู้เขียนไม่ได้เป็นผู้ควบคุมและกำหนดภาษาโดยตรง
......นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ฌาคส์ แดริดา (Jacques Derrida) มีความเห็นขัดแย้งกับกับภาษาศาสตร์ในยุคโครงสร้างอย่างสิ้นเชิง เขาเห็นว่าภาษามีธรรมชาติที่ไร้ระเบียบและไม่มีเสถียรภาพ ความหมายของมันผันแปรไปตามปริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เขาต่อต้านแนวคิดที่ว่าด้วยศูนย์รวม (logo centralism) ในเรื่องที่เป็นความชัดเจน ความถูกต้อง ความงดงาม และความเป็นจริง ซึ่งเขาถือว่าการมีศูนย์รวมเป็นการปิดกั้นความคิดใหม่และการที่จะให้คนคิดใหม่ ทำใหม่ จึงต้องรื้อแนวคิดเก่าๆออกไป ( จันทนี เจริญศรี, 2544: 6-7) ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร(2545: 201)ได้กล่าวถึงฟูโก นักคิดยุคหลังโครงสร้างนิยม ว่าเป็นผู้ที่โต้แย้งแนวคิดเรื่องรูปแบบและโครงสร้างภาษาศาสตร์ของโซซูร์ และเชื่อว่าภาษาไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เขาให้ความสนใจเรื่องรหัสสัญลักษณ์ (symbolic codes) และ วาทกรรมทางภาษา (discourse) เขาเชื่อมโยงภาษากับสังคมและถือว่าภาษาเป็นภาคปฏิบัติของสังคมหรือวัฒนธรรม ภาษาไม่ใช่ตัวตนแท้จริงของมนุษย์ มนุษย์ใช้ภาษาเพื่อสร้างคุณค่าและเอกลักษณ์และผลประโยชน์ให้กับตนเอง ความรู้ต่าง ๆ ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านทางภาษาและนำความรู้ ไปใช้ ให้เกิดผลประโยชน์และอำนาจแก่ชนชั้นผู้นำในสังคม
......ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2545: 204-221) ได้กล่าวว่าโรล็องด์ บาร์ตส์ได้ให้ความสนใจในเรื่องของตัวบท (text) และการวิเคราะห์ตัวบท (textual analysis) และบาร์ตส์ให้ความคิดเห็นว่ามีปัจจัยอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการสร้างตัวบท เช่นปัจจัยทางสังคม ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ความหมายของตัวบทจึงเป็นความคิดในเรื่องโวหารหรือกลวิธีการพูดการเขียน(rhetoric)ทฤษฎีตัวบทแบบใหม่จึงเป็นการเคลื่อนจากการศึกษาภาษาเชิงโครงสร้างมาเป็นการศึกษาการสื่อความหมายของตัวบท และได้กล่าวถึงทฤษฎีที่ว่าด้วยตัวบทไว้ 5 ประการคือ
1. ตัวบท(text) เป็นภาคปฏิบัติของการสื่อ/สร้างความหมายและภาคปฏิบัติของตัวทำ
ให้ทราบกระบวนการสื่อ/สร้างความหมายที่งานและภาษาถักทอซึ่งกันและกันจนเป็นตัวบท/ความหมายขึ้นมา
2. ตัวบทเป็นเรื่องของการผลิตแบบหนึ่งที่ผู้เขียนและผู้อ่านมาพบกัน ตัวบทจะมีการ
ทำงานตลอดเวลาเป็นการผลิต/สร้างที่ไม่รู้จบ ตัวบททำงานผ่านภาษาด้วยการย่อยสลาย การถอดรหัสความหมายของภาษาที่เป็นตัวแทนของการสื่อสารหรือเพื่อการแสดงออกทางความคิดและสร้างภาษาขึ้นมาใหม่ซึ่งเป็นภาษาที่มีพื้นที่ของการผสมกลมกลืนและพลิ้วไหวตลอดเวลาไม่รู้จบ ตัวบทจึงเริ่มจากคนเขียนคัดเลือกใช้คำและรูปแบบไวยากรณ์ที่มีอยู่เพื่อสร้างความหมายขึ้นมาและคนอ่านใช้รูปสัญญะสร้างความหมายใหม่จากสิ่งที่คนเขียนซึ่งคนเขียนอาจนึกไม่ถึงและอาจจะไม่ได้หมายความเช่นนั้นได้
3. ตัวบทเป็นเรื่องของกระบวนการสื่อ/สร้างความหมายอย่างไม่จบสิ้น เร้าใจให้คน
อ่านสืบเสาะหาความรู้จริงต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด กระบวนการปฏิบัติการผ่านทางภาษาเพื่อสร้างความหมายช่วยสลายตัวตนของผู้อ่านและกลายเป็นส่วนหนึ่งในตัวบท ตัวบทจึงเป็นสิ่งเย้ายวนใจให้คนเข้าไปแสวงหาความสุข
4. ตัวบทแสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิดเป็นปรากฏการณ์ของการสื่อสารโดยใช้วาท
กรรม (discourse) การถักทอของภาษาอย่างไม่รู้จบ การที่ให้เข้าถึงตัวบทจึงมีความจำเป็นต้องวิเคราะห์ในเรื่องของการใช้ภาษา วาทกรรมทางภาษา วิธีการ กระบวนการที่ผู้พูดและผู้เขียนใช้เพื่อแสดงความเป็นตัวตนหรือหลีกเลี่ยงความเป็นตัวตนของตนเอง
5. ตัวบททำหน้าที่แจกแจงภาษาใหม่หรือเป็นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ของสิ่งที่ได้กล่าว
มาแล้ว วิธีการเข้าถึงภาษากระทำได้โดยการถอดตัวบทและสร้างตัวบทขึ้นใหม่ (reconstruction text) เพื่อความเข้าใจในตัวบท ตัวบทจะมีลักษณะที่สัมพันธ์ ติดต่อและโยงใยกันในเรื่องเนื้อหาที่กล่าวมาก่อนและที่กล่าวในปัจจุบัน ต่างมาบรรจบกันเป็นเงื่อนไขของการดำรงอยู่ของตัวบทซึ่งเป็นสูตรสำเร็จที่ไม่ชื่อกำกับ แต่มีลักษณะที่หลากหลายกระจัดกระจายเพื่อแสดงถึงการผลิตที่ไม่ซ้ำของตัวบทซึ่งเป็นแนวคิดที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
แนวคิดทฤษฎีภาษายุคสมัยใหม่ (Modernism)
......ยุคสมัยใหม่สืบเนื่องมาจากกระแสการต่อต้านลัทธิยึดติดทางวิทยาศาสตร์ การต่อต้านเริ่มจากนักคิดในสาขาศิลปะและวรรณคดีวิจารณ์ และยังแพร่หลายออกไปยังสาขาปรัชญาและสังคมศาสตร์ แนวคิดของ จอห์น ดิวอี้ (อ้างจาก Kalantzis & Cope, 1993) ในเรื่องมนุษยธรรมและการต่อต้านอุตสาหกรรมที่ไม่คำนึงถึงมนุษยชาติ แนวคิดทางภาษาศาสตร์ของดิวอี้ขัดแย้งกับแนวคิดภาษาศาสตร์โครงสร้าง ดิวอี้เห็นว่าภาษาเป็นกระบวนการทางสังคม ไม่เป็นนามธรรม ไม่มีระเบียบแบบแผนที่แน่นอน กระบวนการเรียนภาษาคือผู้เรียนพูดในสิ่งที่ต้องการพูดและต้องการแสดงออก และมิได้หมายความเพียงการพูดเท่านั้น
......ยุคสมัยใหม่เป็นยุคที่นักปรัชญาผสมผสานภาวะทางสังคมเข้ากับปัญหาด้านญาณวิทยาของทฤษีสังคมเลียวทาร์ (Lyotard, 1992) ได้ปฏิเสธความรู้จากอภิตำนานทั้งหมดโดยเกิดความคลางแคลงใจว่าความรู้เดิมที่เขียนไว้ไม่สอดรับกับสภาวะที่เปลี่ยนไปของสังคม เฟธเธอร์สโตน (Featherstone,1988:195-215) ได้ให้นิยามของยุคสมัยใหม่ว่าเป็นเป็นผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจที่ทำให้โครงสร้างทางสังคมดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดจากกระบวนการย่อยๆ เช่นกระบวนการทางอุตสาหกรรม กระบวนการเติบโตทางสังคมและเทคโนโลยี ทุนนิยม และกลไกทางการตลาด ซึ่งมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เช่นมีการพัฒนาในการผลิตและขายสินค้าในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ยุคบริโภคนิยม ซึ่งให้ความสำคัญต่อความก้าวหน้า (avant - garde) และแปลกใหม่(novelty) มีการเสนอค่านิยมแบบสุขนิยมของผู้บริโภคโดยใช้สื่อสารมวลชนเป็นสื่อกลาง และวัฒนธรรมสมัยใหม่เข้ามาครอบงำสังคม ซึ่งเป็นช่วงปลายของยุคทุนนิยม เป็นระบบการผลิตซ้ำโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เครือข่ายและทุนนิยมระดับนานาชาติ (Jameson, 1992) จนอาจจะกล่าวได้ว่าครอบคลุมไปทั่วทุกปริมณฑลในสังคม มีผลให้ภาษามีพัฒนาการในรูปแบบที่ก้าวหน้ามากเช่นระบบดิจิตอล ไซเบอร์สเปส มีการนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ในแบบไฮเปอร์มีเดีย โดยสามารถสั่งซื้อของดูรายการสินค้าอ่านหนังสือพิมพ์วารสารและติดตามเหตุการณ์ต่างๆได้ทั่วโลกบนระบบจอภาพ
แนวคิดทฤษฎีภาษายุคหลังสมัยใหม่ (Postmodernism)
......ยุคหลังสมัยใหม่เป็นยุคมิติของความแตกต่างทางวัฒนธรรมต่อเนื่องมาจากยุคหลังอุตสาหกรรมใหม่ เน้นความแตกต่าง ความไม่ต่อเนื่องและการไม่ย้อนกลับของวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม มีการกลมกลืนและหลอมรวมของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน กล่าวถึงสิทธิของสตรี(women's right) การศึกษาในเรื่องของเพศและความเท่าเทียมกันทางสังคม ยุคนี้เป็นยุคที่เลิกชื่อถือในเรื่องของความเป็นสากลของภาษาและวัฒนธรรม หรือการแยกส่วนย่อยๆ ของภาษา เป็นยุคสมัยของการอ่านที่มากับสื่อในรูปแบบที่หลายหลาก เน้นการตีความสิ่งที่อ่าน การอ่านเพื่อหาสัมพันธ์บท (intertexualities) และการอ่านในลักษณะของการใช้หลายศาสตร์หรือข้อความรู้ในต่างสาขา (intersubjectivities) เป็นยุคสมัยที่ไม่ยึดติดกับความคิดเดียวว่าถูกต้อง มีการสร้างข้อสรุปนานาประการเพื่อการอธิบายข้อความรู้ต่างๆที่มีอยู่และเกิดขึ้นใหม่ และไม่เชื่อเพียงความคิดหรือข้อสรุปเดียวว่าจะถูกต้อง จะมีการเสนอความคิดทั้งในแง่มุมที่เห็นด้วยและขัดแย้งในทุกประเด็น
......เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคแห่งความขัดแย้งและเป็นการเปิดรับความคิดและสิ่งแปลกใหม่ แนวคิดในเรื่องของภาษาจึงแตกต่างออกไป ภาษาไม่ใช่รูปแบบและอยู่ในขอบเขตอีกต่อไป ภาษาตามความหมายของ มอเฟตต์ (Mofett, 1968) เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสาร และผู้รับสาร ภาษาเป็นสิ่งที่เลื่อนไหลและเป็นสิ่งที่บ่งบอกอุดมการณ์ วัฒนธรรม แนวความคิดและแนวทางเพื่อการปฏิบัติในสังคม

......จากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการในแนวการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ผนวกกับแนวคิดของยุคปฎิฐานนิยม(Positivism) กับยุคหลังปฏิฐานนิยม(Post-Positivism) ซึ่งจาคอบส์และ ฟาร์เรล (Jacob & Farrel, 2001) สรุปไว้ดังนี้

ปฎิฐานนิยม หลังปฎิฐานนิยม
เน้นส่วนย่อยและไม่มีปริบท (detextualization) เน้นส่วนรวม และปริบท(contextualization)
เน้นการแยกส่วน (seperation) เน้นการบูรณาการ (integration)
เน้นทั่วไป (general) เน้นเฉพาะเรื่อง (specific)
เน้นความเป็นปรนัยและปริมาณ เน้นลักษณะอัตวิสัยและไม่คำนึงปริมาณ
พึงพาผู้เชี่ยวชาญและความรู้จากภายนอก คำนึงถึงผู้ปฏิบัติและความรู้จากนักวิจัยภายใน
มีการควบคุม เน้นความเข้าใจ
กระบวนการบนสู่ล่าง (top-down) กระบวนการล่างสู่บน (bottom-up)
เน้นความเป็นมาตรฐาน(standardize) เน้นความแตกต่างที่หลากหลาย (diversity)
เน้นผลผลิต (product) เน้นกระบวนการและผลผลิต

......การเปลี่ยนแปลงในทางตรงกันข้ามนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวคิดจากจิตวิทยาพฤติกรรมของภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างมาสู่แนวจิตวิทยาทางความคิดและสังคมวิทยา แนวการสอนภาษาอังกฤษจึงหันมาเน้นคุณลักษณะดังต่อไปนี้คือ
(1) ให้ความสำคัญแก่บทบาทของผู้เรียนมากกว่าสิ่งเร้าที่มาจากภายนอกและ
เปลี่ยนจากที่เคยเน้นผู้สอนมาเป็นเน้นผู้เรียน
(2) เน้นกระบวนการการเรียนของผู้เรียนมากกว่าผลผลิตที่เกิดขึ้นจากผู้เรียน
(3) ให้ความสำคัญในเรื่องธรรมชาติทางสังคมของผู้เรียนมากกว่าการเรียนแบบแยก
ส่วนหรือการสอนที่แยกส่วนจากปริบท
(4) คำนึงถึงความแตกต่างที่หลากหลายของผู้เรียนและถือว่าไม่เป็นส่วนที่ขัดขวาง
การเรียนรู้แต่ตรงกันข้ามกับมีส่วนที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และเป็นสิ่งที่ดี
(5) ให้ความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนภายในห้องเรียน ประเมินการ
เรียนการสอน ให้ความสำคัญกับการทำวิจัยในชั้นเรียนเพื่อค้นหาคำตอบในการปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิ การเรียนการสอนโดยผ่านกระบวนการศึกษาปัจจัยภายในและสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ
(6) เชื่อมโยงโรงเรียนกับโลกภายนอกโดยการส่งเสริมการเรียนรู้แบบองค์รวม (Holistic learning)
(7) ช่วยผู้เรียนให้เข้าใจจุดมุ่งหมายของการเรียนและมีจุดมุ่งหมายของตนเอง
(8) สอนจากส่วนรวมไปหาส่วนย่อย (whole-to-part)แทนวิธีการสอนจากส่วนย่อยไปส่วนร่วม (part-to-whole) ใช้วิธีการสอนโดยให้เข้าถึงความหมายที่ถักทอไว้ในตัวบท รวมทั้งชนประเภทและคุณลักษณะเฉพาะ ของตัวบทตัวอย่างเช่นในการเลือกใช้คำ การใช้วาทการทางภาษาและการวางโครงเรื่อง
(9) เน้นในเรื่องการสื่อความหมายมากกว่าการท่องจำหรือกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์
(10) เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากกว่าเน้นการสอบวัดความรู้
แนวคิดทฤษฎีดังกล่าวข้างต้นทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษใน 8 ประเด็นสำคัญๆ ดังนี้ คือ
(1) ผู้เรียนเป็นนิติบุคคล (Learning autonomy)
(2) แนวการสอนแบบความร่วมมือ (Cooperative learning)
(3) การบูรณาการหลักสูตร (Curricular integration)
(4) การเน้นความหมาย (Focus on meaning)
(5) ความแตกต่างที่หลากหลาย (Diversity)
(6) ทักษะการคิด (Thinking skills)
(7) การประเมินผลแบบใหม่ (Alternative assessment)
(8) ครูทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมเรียน (Teachers as co-learners)
ผู้เรียนเป็นนิติบุคคล (Learning autonomy)
......ตามแนวคิดของไวกอตสกี้ (Vygotsky’s 1978) ผู้เรียนจะต้องมีความตั้งใจในการเรียนและต้องบังคับตนเอง การเป็นนิติบุคคลของผู้เรียนในที่นี้หมายถึงสามารถเลือกสิ่งที่ต้องการเรียน วิธีการเรียนและในขณะเดียวกันต้องมีความรับผิดชอบต่อการเรียนของตนเองและของผู้อื่นที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย ผู้เรียนใช้จุดแข็งของตนเองมาเป็นประโยชน์ในการเรียนและเพื่อการแก้ไขจุดอ่อนของตนเอง แรงจูงใจภายในของผู้เรียนมีความสำคัญมากที่จะทำให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียน และเป็นไปตามแนวของประชาธิปไตยที่ว่านักเรียนมีสิทธิและมีหน้าที่รับผิดชอบในการเรียน
......จะเห็นว่าการเรียนการสอนแบบนี้เน้นบทบาทของผู้เรียน กระบวนการมากกว่าผลที่ได้ ส่งเสริมให้ผู้เรียนตั้งวัตถุประสงค์ในการเรียนของตนเองและการเรียนเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต การนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษก็คือ การให้ผู้เรียนทำกิจกรรมในกลุ่มย่อย หรือเป็นคู่ การทำเช่นนั้นจะช่วยลดบทบาทการที่ต้องพึ่งครูลงและผู้เรียนมาช่วยกันสร้างความรู้หรือดึงความรู้จากที่แต่ละคนมีอยู่มารวมกันโดยมีครูเป็นผู้ช่วย การได้มาของความรู้จะเป็นสองทางคือได้จากผู้เรียนเองและได้จากผู้สอน นอกจากนั้นให้ผู้เรียนได้อ่านหนังสืออย่างกว้างขวางและอ่านเพิ่มมากขึ้น โดยเลือกตามความสนใจและเหมาะกับระดับและความสามารถของตน ส่วนการวัดการประเมินผลการเรียนนั้นให้สนับสนุนให้ผู้เรียนตั้งเกณฑ์การประเมินความสำเร็จของตนเอง โดยไม่ต้องรอการประเมินผลจากผู้สอนซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สุดในห้องเรียนก็ตาม วัตถุประสงค์คือให้ผู้เรียนมีความก้าวหน้าทางความรู้ให้มากที่สุด และตั้งค่านิยมในการหาความรู้ด้วยตนเองของผู้เรียนซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนมั่นใจและแสดงบทบาทและมีความรับผิดชอบต่อการเรียน
การเรียนการสอนแบบความร่วมมือ (Cooperative learning)
......แนวการสอนแบบนี้พัฒนามากจากหลากหลายแนวคิดและใช้หลายเทคนิควิธีการในการจัดการเรียนการสอน และเน้นให้เห็นคุณค่าในเรื่องของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนโดยผู้สอนใช้กิจกรรมหลายๆรูปแบบที่จะให้ผู้เรียนร่วมมือกันทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย
......แนวคิดในการสอนแบบนี้จะมีส่วนเหมือนกับแนวการสอนแบบผู้เรียนเป็นนิติบุคคลคือการที่ผู้เรียนต้องรับผิดชอบในการเรียนของตนเองเน้นกระบวนการเรียนผู้เรียนทำงานร่วมกันและต้องอธิบายในกลุ่มถึงที่มาของคำตอบทั้งหลาย การสอนแบบนี้ส่งผลดีในการเรียนรู้ของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน สร้างความรู้สึกร่วมกันในการทำงานให้สำเร็จซึ่งทุกคนในกลุ่มต้องมีความรับผิดชอบในงานของตนเพื่อความสำเร็จของกลุ่ม แนวการสอนแบบนี้จำเป็นต้องมีการฝึกฝนผู้เรียนในเรื่องทักษะการทำงานกลุ่ม การแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ การขัดแย้ง การขอความช่วยเหลือ การอธิบาย ผู้เรียนบางคนอาจไม่คุ้นเคยกับวิธีทำงานทางวิชาการร่วมกับผู้อื่นเช่นนี้มาก่อน แนวการสอนแบบนี้ถือว่าเป็นประโยชน์มากเพราะสามารถนำวิธีการไปใช้ในชีวิตประจำวันและการร่วมงานกับผู้อื่นในอนาคต
......การสอนแบบความร่วมมือนี้เน้นกิจกรรมที่มีความหมายตามสภาพการที่เป็นจริงเช่นให้กลุ่มไปสัมภาษณ์และนำมาผลการสัมภาษณ์มาเขียนรายงาน แนวการสอนเน้นการปฏิบัติแนวคิดทฤษฎีและค่านิยมในการทำงานร่วมกัน พร้อมทั้งสร้างให้เห็นถึงคุณค่าของการแข่งขันในสังคม การใช้โครงงาน(project work) เป็นกิจกรรมในการทำงานร่วมกันช่วยทะลายกำแพงห้องเรียนโดยให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงห้องเรียนกับโลกกว้างเข้าด้วยกัน (Freire, 1970) วัตถุประสงค์ของการเรียนก็เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันมากกว่าการเรียนเพื่อสอบให้ได้คะแนนสูง
การบูรณาการหลักสูตร (Curricular integration)
......การบูรณาการหลักสูตรก็เพื่อที่จะแก้ปัญหาการเรียนประเภทแยกส่วนในแต่ละรายวิชาและเมื่อเรียนจบชั่วโมงก็จบวิชาและเริ่มเรียนวิชาใหม่เปิดหนังสือเล่มใหม่ต่อไป ทำให้ขาดการต่อเนื่องบูรณาการในรายวิชา ในความเป็นจริงของการปฏิบัติงานหรือการแก้ปัญหาจำเป็นต้องใช้ หลายวิชา แนวการสอนแบบนี้จึงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เชื่อมโยงวิชาต่างๆเข้าด้วยกัน มีจุดประสงค์ให้การเรียนที่มีความหมายมากขึ้นและเกิดทักษะในการวิเคราะห์ในรูปแบบขององค์รวม(holistic manner)
......แนวคิดการสอนแบบนี้จะเน้นในเรื่องของการเรียนในส่วนรวมไปหาส่วนย่อย (whole-to-part) แทนการเรียนจากส่วนย่อยไปส่วนรวม (part-to-whole) เช่นการบูรณาการวิชาสังคมเรื่องการเปลี่ยนของสังคมโลกเข้ากับวิชาวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีและวิชาภาษาโดยให้ผู้เรียนได้อ่านค้นคว้าและเขียนรายงานเป็นต้น แนวการสอนแบบบูรณาการนี้จะใช้มากในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย แนวคิดที่ว่าภาษาเป็นเครื่องมือในการหาความรู้ การเรียนภาษาจึงเป็นการเรียนรู้วิชาการด้านต่าง ๆ โดยผ่านตัวสัญญะทางภาษาไม่ใด้เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวภาษาเท่านั้น
การเน้นความหมาย (Focus on meaning)
......การวิจัยทางจิตวิทยาการรับรู้ (cognitive psychology) พบว่าผู้เรียนรับรู้ได้ดีที่สุดเมื่อมีการเชื่อมโยงและสะสมความรู้เอาไว้อย่างมีความหมาย ขณะที่การเรียนรู้จากการท่องจำและจากการพูดซ้ำๆเป็นการเรียนรู้ในระยะสั้น ๆ (short-term learning) เพื่อเป็นการขยายการเรียนรู้ระยะสั้นเป็นการเรียนรู้แบระยะยาว (long-term learning) จึงจำเป็นต้องต้องเน้นในเรื่องการรับรู้และเข้าใจสาระของภาษาที่ผู้เรียนต้องใช้เพื่อการสื่อสาร ฮฮลิเดย์และแมทธิเอสเซน (Halliday & Matthiessen, 1999) ได้กล่าวถึงเรื่องความหมาย (meaning) ว่าหมายถึงความเข้าใจคำและตัวบททั้งหมด (whole text) เท่าๆกับความเข้าใจเหตุการณ์และสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้เรียน
......แนวการสอนแบบนี้เห็นขัดแย้งกับแนวการสอนของนักจิตวิทยาด้านพฤติกรรมศาสตร์ ที่ว่าการเรียนรู้เกิดจากการฝึกซ้ำ ๆ แนวการสอนแบบนี้เห็นว่าการเรียนรู้อย่างมีความหมายเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริงของมนุษย์ ความหมายจะเกิดขึ้นก็เมื่อมีข้อมูลใหม่ไปรวมเข้ากับความรู้เดิมที่มีอยู่และสร้างเป็นความรู้ใหม่จากประสบการณ์เดิม ในการสอนภาษาเน้นการเรียนจากส่วนรวมไปส่วนย่อย (whole-to-part) เน้นปริบท (contexualization) และดูประเภทของตัวบท(genre) จุดประสงค์ของใช้ภาษาในแต่ละปริบทที่แตกต่างกัน เช่นตามเนื้อหาสาระ ตามวาระ โอกาส และบุคคล สิ่งเหล่าเป็นตัวกำหนดให้มีการเลือกใช้คำและไวยากรณ์ที่แตกต่างกันออกไป ภาษาแบ่งออกเป็นสองระดับคือภาษาพูดและภาษาเขียนซึ่งมีลักษณะของจัดวางรูปแบบและการใช้วาทการที่แตกต่างกัน ตามแนวคิดของฮอลิเดย์และมาติน (Halliday & Martin, 1993 ) ภาษามีลักษณะเป็นระบบและเป็นเครือข่าย (network) สามารถนำองค์ประกอบและระเบียบวิธีที่อยู่ในภาษามาสร้างสรรค์เป็นความหมายได้อย่างไม่จบสิ้นและไม่ซ้ำซ้อน
......ตามแนวคิดทฤษฎีด้านสังคมวิทยาเห็นว่าภาษาเป็นเครื่องมือทางสังคมในการสร้างความหมาย ผู้เรียนต้องคำนึงถึงหน้าที่ตามระบบของภาษาและการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารในสังคม แนวการสอนแบบนี้จะมีการวิเคราะห์ตัวบท (text) ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างผู้สื่อสารและผู้รับสาร ศึกษาการเลือกใช้คำและรูปแบบของประโยค (Linguistic features) เพื่อให้การสื่อสารนั้นตรงกับความต้องการของผู้สื่อ แนวการสอนแบบนี้เป็นแนวคิดที่ต้องการนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาความล้มเหลวในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษและวัฒนธรรมให้กับผู้ที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองหรือเป็นภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อจุดมุ่งหมายเฉพาะ (English for specific purposes) หรือภาษาอังกฤษเชิงวิทยาการ (English for academics) แนวการสอนจะเน้นการศึกษาวิเคราะห์ภาษาตามหน้าที่ เช่นให้ผู้เรียนอ่านข้อความในตัวบทโดยระบุวัตถุประสงค์ เป้าหมายหรือหน้าที่ทางสังคมของผู้พูดหรือผู้เขียนในตัวบทนั้น ให้ผู้เรียนศึกษาขั้นตอนในการนำเสนอข้อความ เนื้อหาสาระในตัวบทและให้ศึกษาถึงองค์ประกอบของภาษาและความสัมพันธ์ของตัวบท (intertextuality) ที่ผู้พูดหรือผู้เขียนได้เลือกใช้เพื่อการสื่อความหมายในงานนั้น
ความแตกต่างที่หลากหลาย (Diversity)
......แนวการสอนแบบนี้เน้นเอาความหลากหลายของผู้เรียนมาเป็นประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอน เช่นผู้เรียนต่างเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา เพศ ฐานะทางสังคม และต่างระดับความรู้ ผู้สอนนำความแตกต่างดังกล่าวมาหาแนวการสอนที่ทำให้เกิดสัมฤทธิผลทางการเรียน ความหลากหลายไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคแต่กลับเป็นจุดแข็ง
......แนวการจัดการเรียนการสอนยึดหลักการของการบูรณาการทักษะหลายด้าน ลงในกิจกรรมการเรียนการสอนในแต่ละครั้งตามหลักการของ multiple intelligence คือให้จัดกิจกรรมการเรียนที่หลากหลายเพื่อรองรับความแตกต่างและความถนัดเฉพาะทางของผู้เรียนและเหมาะกับรูปแบบการเรียนเช่นในการเรียนข้อความรู้หนึ่งให้ทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดความรู้และทักษะในเรื่องนั้นในหลายรูปแบบเพื่อให้ผู้เรียนที่ถนัดดนตรี วาดภาพ การเขียน การอ่าน การวิเคราะห์ปัญหาได้มีโอกาสใช้ความถนัดของตนเองในการทำงาน แนวการสอนจึงยึดแนวการบูรณาการกิจกรรมที่ฝึกทักษะหลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ดีการเรียนการสอนเป็นการให้โอกาสทุกคน เป็นการที่ผู้เรียนทั้งเก่งและอ่อนได้พัฒนาไปด้วยกัน นอกจากผู้เรียนได้พัฒนาตามศักยภาพของตนยังได้พัฒนาความถนัดของตนให้ดีขึ้นและละเอียดขึ้น ในขณะเดียวกันได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้นจากการทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มีความชำนาญต่างกัน
ทักษะการคิด (Thinking skills)
......ทักษะการคิดเป็นทักษะที่สำคัญมากโดยเฉพาะในสภาพการปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของข้อมูลข่าวสารและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ จึงมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะการคิดในระดับที่สูงขึ้น(higher-order thinking skills) หรือที่เรียกว่าทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์และการคิดเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ (Paul,1995) ทักษะการคิดแบ่งแยกได้หลายประเภทเช่นทักษะการประยุกต์ใช้ข้อมูลในปริบทใหม่ การวิเคราะห์เหตุการณ์สถานการณ์ การสังเคราะห์ข้อมูล การประเมินข้อมูล ทักษะการคิดเป็นทักษะที่จำเป็นมากในการศึกษาในปัจจุบันเพราะมีข้อมูลข่าวสารมากมายและผู้บริโภคต้องมีวิธีการที่ชาญฉลาดในการประเมินเลือกข้อมูลข่าวสารที่ได้นำเสนอเหล่านั้น
......แนวทางในการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดทักษะในการคิดจึงเน้นการเชื่อมโยงผู้เรียนกับโลกภายนอก โดยผู้สอนและผู้เรียนเน้นการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สังเคราะห์ประมวลและประเมิน (Freire, 1970) ซึ่งการกระทำเช่นนั้นต้องมีทักษะการคิดในระดับที่สูงขี้น
เน้นกระบวนการคิดอย่างมีคุณภาพมากกว่าผลที่เกิดขึ้นจากวิธีคิดเช่นการคิดเพื่อการแก้ปัญหาและ
วิเคราะห์สถานการณ์ตามแนวทางอริยสัจจ์ 4 การคิดพิจารณา ใตร่ตรองให้ลึกซึ้งตามหลักการโยนิโสมนสิการ (ประยุทธ์ ปยุตโต, 2533) และแนวทางการสอนแบบอื่นๆ แนวการสอนแบบนี้จึงไม่ใช่กระบวนการแค่การรวบรวมความรู้แต่เป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ไปใช้ในการพัฒนาเพื่อให้มีความก้าวหน้าทางการศึกษายิ่งขึ้น
......การให้ทำโครงงานในกลุ่มย่อยเป็นเป้าหมายหนึ่งของวิธีการฝึกทักษะการคิด ถือว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์มากเพราะผู้เรียนได้ทำกิจกรรมเพื่อนสอนเพื่อน การรับฟัง การอภิปรายโต้แย้ง การวิพากษ์วิจารณ์ที่สร้างสรรค์ การท้าทายทางความคิด รวมทั้งการวางแผนการทำงานเพื่อความสำเร็จของกลุ่ม
การประเมินผลแบบใหม่ (Alternative assessment)
......ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามีวิธีการประเมินโดยใช้ข้อทดสอบแบบต่าง ๆ เช่นการเลือกคำตอบที่ถูกที่สุด การระบุข้อถูกข้อผิด การเติมคำลงในช่องว่าง ซึ่งการประเมินดังกล่าวเป็นการประเมินที่ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติในชีวิตจริงและการใช้ทักษะการคิดในการดำเนินการหรือการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าการวัดการประเมินผลโดยใช้ข้อสอบแบบอัตนัยเพื่อประเมินทักษะการคิดต้องใช้เวลาในการดำเนินการ และการประเมินผลมีลักษณะเป็นอัตตวิสัย เแต่เริ่มเป็นที่นิยมใช้มากขึ้นในยุคหลังสมัยใหม่ เพราะในการพัฒนาทักษะการคิดในระดับที่สูงขึ้นจำเป็นต้องใช้ต้องมีการประเมินผลที่สอดคล้องกัน เช่นการประเมินผลงานโครงการฉบับก่อนและฉบับสุดท้ายเพื่อดูการพัฒนา การประเมินแฟ้มสะสมเพื่อดูความก้าวหน้า ปริมาณและคุณภาพของผลงาน การใช้รูปแบบการประเมินแบบ think aloud การสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ทราบกระบวนการ (seek to investigate process)
......ทางเลือกใหม่ในการประเมินผลนั้นยังรวมถึงการให้ผู้เรียนประเมินผลกันเองเช่นการประเมินแบบ peer assessment ในการทำโครงการของงานกลุ่มหรือการทำงานเดี่ยว ซึ่งการประเมินผลแบบนี้ไม่ได้ลดบทบาทการประเมินของครูแต่เป็นการฝึกทักษะการประเมินผลตนเองและการให้ข้อมูลย้อนกลับจากกลุ่ม เช่นการให้ผู้เรียนตรวจงานเขียนของเพื่อนจะช่วยให้ผู้เรียนได้ตั้งเกณฑ์การประเมินและได้ทราบถึงเกณฑ์ของการเขียนที่ประสบผลสำเร็จมีคุณลักษณะเช่นใด
ครูทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมเรียน (Teachers as co-learners)
......แนวความคิดในการที่ให้ครูเป็นผู้ร่วมเรียนไปกับนักเรียนนื้สืบเนื่องมาจากคำถามต่างๆไม่มีเพียงคำตอบเดียว ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนแตกต่างกันและโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งจำเป็น ผู้สอนมีส่วนร่วมในการถามคำถามและตอบคำถามอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและจะต้องปฏิบัติให้เห็นจนผู้เรียนตระหนักถึงความจริงดังกล่าว
ผู้สอนมีการเรียนรู้เกี่ยวกับวิชาที่สอนและวิธีการสอนเพิ่มมากขึ้นทุกครั้งที่ทำการสอน
......ในการเรียนการสอนของยุคหลังสมัยใหม่ ครูร่วมเรียนรู้ไปกับผู้เรียน การเรียนการสอนเป็นกระบวนการทางสังคม ครูและผู้เรียนร่วมกันสร้างความรู้ ผู้สอนทำหน้าที่ผู้ให้ความสะดวกและสนับสนุนให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้ร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคหลังนี้คือผู้สอนและผู้เรียนเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในสิ่งที่กำลังปฏิบัติและสามารถเป็นผู้ทำการวิจัยปฏิบัติการ วิจัยแบบมีส่วนร่วมวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งแต่ก่อนผู้เชี่ยวชาญทำการวิจัยและผู้บริหารเป็นผู้ทำการประเมินเท่านั้น และที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมคือผู้เรียนมีบทบาทในการประเมินผลการสอนของครูด้วยเช่นกัน
......การนำแนวคิดดังกล่าวไปสู่ภาคปฏิบัติในการเรียนการสอนภาษาคือการทำการวิจัยเพื่อหาทางแก้ไขและพัฒนาการเรียนการสอนในห้องเรียนของผู้สอน โดยใช้วิธีการเก็บบันทึกข้อมูลเช่นจากการสนทนา ซักถาม สัมภาษณ์ การทำกรณีศึกษาและนำผลที่ได้มาศึกษาวิเคราะห์ สังเคราะห์เขียนเป็นรายงานการวิจัยเพื่อให้ได้ข้อความรู้ใหม่ในการปฏิบัติงานที่เพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการเรียนการสอนที่เน้นจากตัวครูมาเน้นการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาผู้เรียน และแนวคิดที่ให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้ไปด้วยกัน
บทสรุป
......จากการศึกษาแนวคิดและวิวัฒนาการการเปลี่ยนแปลงทั้ง 8 ประเด็นของการเรียนการสอนภาษาหลังยุคใหม่ พบว่าแนวคิดมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เช่นการสอนแบบร่วมมือมีความเชื่อมโยงกับการเรียนการสอนแบบผู้เรียนเป็นนิติบุคคลเพราะว่าการทำกิจกรรมกลุ่มช่วยให้นักเรียนพึงพาความช่วยเหลือจากครูน้อยลง การเรียนการสอนแบบความร่วมมือใช้หลักการบูรณาการรายวิชาชึ่งทำให้ผู้เรียนได้มีมีการเรียนรู้ร่วมกันจากการให้ทำโครงงานที่ต้องอาศัยความรู้จากหลายสาขาวิชาในหลักสูตรและการสอนแบบร่วมมือยังเชื่อมโยงกับการเรียนการสอนที่เน้นความหมายในการสื่อสารสาระความรู้ต่าง ๆ (meaning) และสัมพันธ์กับความแตกต่างที่หลากหลาย (Diversity) โดยทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แง่ มุมที่แตกต่างกันและใช้ทักษะการร่วมมือเพื่อสร้างค่านิยม ความคิดและได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ในกลุ่มที่ผู้เรียนที่มีความแตกต่างทางด้านสังคมและวัฒนธรรม
......ทักษะการคิดเป็นทักษะที่จำเป็นในการจัดการเรียนการสอนแบบให้ความร่วมมือ กิจกรรมในกลุ่มย่อยบังคับให้ผู้เรียนต้องคิดเช่นการวิเคราะห์สถานการณ์ที่กำหนดขึ้น การที่ต้องให้ข้อมูลย้อนกลับ การอภิปราย การโต้วาที การทำการประเมินเพื่อนในกกลุ่ม การประเมินตัวผู้สอน การที่ผู้สอนทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมเรียน และร่วมมือกันกับผู้สอนด้วยกันเองในการทำการศึกษาผู้เรียนซึ่งต้องใช้กระบวนการและทักษะในการคิดทั้งสิ้น การสอนแบบให้ความร่วมมือช่วยให้ผู้เรียนมีการลงมือปฏิบัติแทนการฟังบรรยายจากผู้สอน
......ในการเรียนการสอนแนวคิดทฤษฎีทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วมีความสำคัญเท่า ๆ กัน การนำแนวคิดเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาใช้จะทำให้การเรียนการสอนเป็นการสอนภาษาแบบแยกส่วนไม่เป็นองค์รวม ทำให้การพัฒนาผู้เรียนให้เกิดทั้งความรู้และความคิด เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในสังคมในอนาคตไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การเรียนการสอนภาษาจำเป็นต้องใช้หลักการทั้ง 8 ปรที่กล่าว เหมือนกับการต่อภาพจิกส์ซอ ถ้าขาดชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่งไปก็ได้ภาพที่ขาดความสมบูรณ์


เขียนโดยpencilgreen,2530





 

วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2556


ทฤษฎีการสื่อสาร

 การสื่อสารคืออะไร

        การสื่อสาร (communication )   ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Communication ซึ่งรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า Communis หมายถึง การร่วม (Common) เมื่อมีการสื่อสารหรือการสื่อความหมาย ก็หมายถึงว่า มีการกระทำร่วมกันในบางสิ่งบางอย่าง นั่นคือการถ่ายทอดหรือการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ความรู้ ความคิด ของคนเรานั่นเอง กระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดข้อมูลข่าวสาร  ทัศนะ  ความรู้สึกและ อารมณ์ของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปหรือมากกว่านั้น   การสื่อสารจึงเป็นปฏิกิริยาสัมพันธ์ทางสังคมที่สื่อความหมายผ่านระบบสัญลักษณ์ กระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารระหว่างบุคคลต่อบุคลหรือบุคคลต่อกลุ่ม โดยใช้สัญลักษณ์ สัญญาณ หรือพฤติกรรมที่เข้าใจกัน การสื่อสาร มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า การสื่อความหมาย ใน (Webster Dictionary 1978 : 98)
             การให้ความหมายของการสื่อสารตามรูปคำข้างต้น ยังไม่ใช่ความหมายที่สมบูรณ์นัก เพราะการสื่อสารที่แท้จริงนั้น มีความหมายกว้าง ครอบคลุมเกี่ยวข้องกับชีวิตและสังคมมนุษย์ในทุกๆ เรื่อง นักวิชาการด้านการสื่อสารได้ให้ความหมายไว้ต่างๆ กัน ตามแง่มุมที่แต่ละคนพิจารณาให้ความสำคัญ ดังตัวอย่างต่อไปนี้ (ปรมะ สตะเวทิน 2529 : 5-7)
วิลเบอร์ ชแรมม์ (Wilber Schramm) ให้ความหมายว่า การสื่อสาร คือการมีความเข้าใจร่วมกัน ต่อเครื่องหมายที่แสดงข่าวสาร
              ชาร์ล อี ออสกุด (Charl E.Osgood) ให้ความหมายโดยทั่วไปว่า การสื่อสาร เกิดขึ้นเมื่อฝ่ายหนึ่ง คือผู้ส่งสาร มีอิทธิพลต่ออีกฝ่ายหนึ่งคือผู้รับสาร โดยใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งถูกส่งผ่านสื่อที่เชื่อมต่อสองฝ่าย
วอร์เรน ดับเบิลยู วีเวอร์ (Worren W. Weaver) กล่าวว่า การสื่อสารมีความหมายกว้าง ครอบคลุมถึงกระบวนการทุกอย่าง ที่จิตใจของคนๆ หนึ่ง อาจมีผลต่อจิตใจของอีกคนหนึ่งไม่ใช่เพียงการพูดและการเขียนเท่านั้น แต่รวมถึง ดนตรี ภาพ การแสดง และพฤติกรรมอื่นๆ ของมนุษย์
              ยอร์จ เอ มิลเลอร์ (Goorge A. miller) ให้ความหมายว่า การสื่อสารเป็นการถ่ายทอดข่าวสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง
              เจอร์เกน รอย และเกกอรี เบทสัน (Jurgen Ruesch and Gregory Bateson)ให้ความหมายโดยสรุปว่า การสื่อสารไม่ใช่การถ่ายทอดข่าวสารด้วยภาษาพูดและเขียนโดยมีเจตนาชัดเจนเท่านั้น แต่หมายถึงพฤติกรรมทุกอย่างที่บุคคลหนึ่งกระทำ แล้วส่งผลให้บุคคลอื่นเกิดความเข้าใจ
              พจนานุกรมภาษาอังกฤษ (Oxford English Dictionary) ให้ความหมายว่า การให้ การนำการแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้อื่นๆ   จากความหมายที่มีผู้ให้ไว้แตกต่างกัน ซึ่งบางคนให้ความหมายครอบคลุมไปถึงพฤติกรรมที่ไม่ใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนด้วย บางคนถือว่าการสื่อสารคือการแสดงออกทุกอย่าง ที่ผู้อื่นเข้าใจได้ ไม่ว่าการแสดงนั้นจะมีเจตนาให้ผู้อื่นเข้าใจหรือไม่ก็ตาม จึงอาจสรุปได้ว่า การสื่อสาร คือการที่มนุษย์ถ่ายทอดความรู้ ความคิด หรือประสบการณ์ของตน ไปยังบุคคลอื่น และการรับความรู้ความคิดจากบุคคลอื่น มาปรับพฤติกรรมของตนเอง โดยกระบวนการของการสื่อสาร ซึ่งการถ่ายทอด และการรับความรู้ ความคิดมีอยู่ 3 ลักษณะ

                    นักวิชาการด้านการสื่อสารมวลชน ได้จำแนกประเภทของการสื่อสารไว้แตกต่างกันหลายลักษณะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการจำแนก (ปรมะ สตะเวทิน 2526 : 18 - 48 )
                     ในที่นี้จะแสดงการจำแนกประเภทของการสื่อสาร โดยอาศัยเกณฑ์ในการจำแนกที่สำคัญ 3 ประการ คือ

                1. จำแนกตามกระบวนการหรือการไหลของข่าวสาร
                2. จำแนกตามภาษาสัญลักษณ์ที่แสดงออก
                3. จำแนกตามจำนวนผู้สื่อสาร
            

 จำแนกตามกระบวนการหรือการไหลของข่าวสาร แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
           6.1 การสื่อสารทางเดียว (One-Way Communication) คือการสื่อสารที่ข่าวสารจะถูกส่งจากผู้ส่งไปยังผู้รับในทิศทางเดียว โดยไม่มีการตอบโต้กลับจากฝ่ายผู้รับ เช่น การสื่อสารผ่านสื่อ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ การออกคำสั่งหรือมอบหมายงานโดย ฝ่ายผู้รับไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ซึ่งผู้รับอาจไม่เข้าใจข่าวสาร หรือเข้าใจไม่ถูกต้องตามเจตนาของผู้ส่งและทางฝ่ายผู้ส่งเมื่อไม่ทราบปฏิกิริยาของผู้รับจึงไม่อาจปรับการสื่อสารให้เหมาะสมได้ การสื่อสารแบบนี้สามารถทำได้รวดเร็วจึงเหมาะสำหรับการสื่อสารในเรื่องที่เข้าใจง่าย
ในสถานการณ์ของการสื่อสารบางอย่าง มีความจำเป็นต้องใช้การสื่อสารทางเดียว แม้ว่าเรื่องราวที่สื่อสารจะมีความซับซ้อนก็ตาม เช่น กรณีผู้รับและผู้ส่งไม่อาจพบปะ หรือติดต่อสื่อสารกันได้โดยตรง การสื่อสารแบบกลุ่มใหญ่ และการสื่อสารมวลชนซึ่งไม่อาจทราบผู้รับที่แน่นอน
            6.2 การสื่อสารสองทาง (Two-way Communication) คือการสื่อสารที่มีการส่งข่าวสารตอบกลับไปมาระหว่างผู้สื่อสาร ดังนั้นผู้สื่อสารแต่ละฝ่ายจึงเป็นทั้งผู้ส่งและผู้รับในขณะเดียวกัน ผู้สื่อสารมีโอกาสทราบปฏิกิริยาตอบสนองระหว่างกัน ทำให้ทราบผลของการสื่อสารว่าบรรลุจุดประสงค์หรือไม่ และช่วยให้สามารถปรับพฤติกรรมในการสื่อสารให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ตัวอย่างการสื่อสารแบบสองทาง เช่น การพบปะพูดคุยกัน การพูดโทรศัพท์ การออกคำสั่งหรือมอบหมายงานโดยฝ่ายรับมีโอกาสแสดงความคิดเห็น การสื่อสารแบบนี้จึงมีโอกาสประสบผลสำเร็จได้มากกว่า แต่ถ้าเรื่องราวที่จะสื่อสารเป็นเรื่องง่าย อาจทำให้เสียเวลาโดยไม่จำเป็น
ในสถานการณ์ของการสื่อสารบางอย่าง เช่น ในการสื่อสารมวลชน ซึ่งโดยปกติมีลักษณะเป็นการสื่อสารทางเดียว นักสื่อสารมวลชนก็มีความพยายามที่จะทำให้มีการสื่อสาร 2 ทางเกิดขึ้น โดยการให้ประชาชนส่งจดหมาย โทรศัพท์ ตอบแบบสอบถาม กลับไปยังองค์กรสื่อมวลชน เพื่อนำผลไปปรับปรุงการสื่อสารให้บรรลุผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

การรับสารในการสื่อสารส่วนบุคคล มีช่องทางการรับได้ 2 รูปแบบคือ
                1. การรับสารเฉพาะตัว เช่น ความคิดคำนึง ความกลัว ที่เกิดขึ้น ภายในตัวเอง ซึ่งแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ และสภาพจิตใจของแต่ละบุคคล    การรับสารจากภายนอก เป็นการรับรู้สิ่งที่อยู่รอบตัว บุคคลทั่วไปมีประสบการณ์เหมือนกัน เช่น ความหอมของดอกไม้ ความเจ็บปวด ฯลฯ แต่ปฏิกิริยาตอบสนองอาจไม่เหมือนกัน
            2 .  การสื่อสารระหว่างบุคคล (Interpersonal Communication)   การสื่อสารระหว่างบุคคล   เป็นการสื่อความหมายของบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เช่น การพูดคุย อภิปราย โต้วาที การประชุมสัมมนา การเรียนการสอน การสั่งงาน ตลอดจนการติดต่อสื่อสารอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน การสื่อสารลักษณะนี้ถือว่าเป็นการสื่อสารที่สมบูรณ์และมีโอกาสบรรลุจุดประสงค์ได้ดีที่สุด ผู้สื่อสารสามารถแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อกัน ความหมายของการสื่อสารโดยทั่วไป หมายถึงการสื่อสารประเภทนี้
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การสื่อสารระหว่างบุคคลประสบความสำเร็จ ที่สำคัญ 3 ประการคือ
                   1. การเปิดเผยตนเอง และนำตนเองเข้าไปเกี่ยวข้อง ข้อนี้นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการสื่อสารระหว่างบุคคล คือ การแสดงอารมณ์ ความรู้สึก ความจริงใจต่อกันระหว่างผู้สื่อสาร และแสดงให้เห็นว่าตนเองมีความเกี่ยวข้อง เป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีส่วนร่วมในผลที่เกิดจากเรื่องราวที่กำลังสื่อสารกันอยู่
                    2. การตั้งใจฟัง เนื่องจากการสื่อสารส่วนใหญ่ ใช้การพูดในการสื่อสาร ดังนั้นนอกจากความสามารถในการพูด การใช้ภาษาของผู้สื่อสารแล้ว ผู้ฟังมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของการสื่อสารด้วย การฟังอย่างตั้งใจ หรือมีเจตนาที่จะรับฟังด้วยความหวัง ว่าจะได้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากผู้พูด ย่อมจะช่วยให้การสื่อสารได้ผลยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าการฟังจะมีประโยชน์ต่อการสื่อสารอย่างมาก แต่ก็มีอุปสรรคที่ทำให้ฟังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เช่น
                   2.1 การคิดล่วงหน้าว่าสิ่งที่จะได้รับฟังไม่น่าสนใจ มีอคติต่อเรื่องหรือต่อบุคคลที่พูด ทำให้รู้สึกเบื่อหน่าย ฟังอย่างไม่ตั้งใจ บางครั้งอาจเสียโอกาสของการฟังที่ดีๆ เลยก็ได้ ดังนั้น การฟังเพื่อให้ได้สาระจึงไม่ควรคาดการณ์ในแง่ลบไว้ล่วงหน้า
                   2.2 การวิจารณ์ผู้พูดในทางลบ ในสิ่งที่ไม่ใช่สาระของการสื่อสาร เช่น ให้ความสนใจกับการแต่งตัว หรือไม่พอใจคำพูดเพียงบางคำ ในขณะที่ฟังก็พูดวิจารณ์ ไปด้วย นอกจากจะทำให้ไม่ได้ประโยชน์จากการฟังแล้ว ยังเป็นการเสียมารยาท ก่อความลำคาญแก่คนข้างเคียงด้วย
                   2.3 การสรุปล่วงหน้า เช่น ฟังเรื่องราวไปได้เพียงเล็กน้อย ก็สรุปความเองว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ซึ่งอาจไม่เป็นความจริงตามนั้น
                      2.4 การเลือกฟังเฉพาะบางส่วน เลือกฟังเฉพาะตอนที่ตนเองสนใจ โดยที่ไม่ทราบชัดว่า ตอนอื่นมีสาระเป็นอย่างไร
                      2.5 สภาพร่างกายและสิ่งแวดล้อมไม่อำนวย เช่น อากาศร้อน เสียงดัง ปวดหัว ง่วงนอน

                    3    การสื่อสารมวลชน   (Mass Communication)  เป็นการสื่อสาร ที่ถ่ายทอดความรู้ข่าวสารโดย สื่อมวลชน (Mass media) ไปยังผู้รับหรือกลุ่มเป้าหมายที่ไม่แน่นอนและไม่จำกัดจำนวน เช่น การสื่อสารโดยวิทยุกระจายเสียง หนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ วารสาร นิตยสาร การสื่อสารประเภทนี้ทำให้ปฏิกิริยาการโต้ตอบเกิดขึ้นได้ยากและช้ากว่าการสื่อสารประเภทอื่นมาก อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าการสื่อสารมวลชน เป็นผลผลิตของความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยี และวิวัฒนาการของการติดต่อสื่อสารของมนุษย์ คือผลมาจากการคิดค้นหาเครื่องมือในอันที่จะถ่ายทอดข่าวสารไปยังมวลชนจำนวนมาก สำหรับสังคมที่มีการขยายตัวและซับซ้อนมากขึ้น

    องค์ประกอบของการสื่อสาร

                    กระบวนการสื่อสารจึงมีองค์ประกอบ    คือ ผู้ส่งสาร(Sender) สาร (Message) สื่อหรือช่องทาง (Channel) และผู้รับสาร (Reciever)

นักวิชาการด้านการสื่อสารได้วิเคราะห์ กำหนดองค์ประกอบ และอธิบายความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ใน     กระบวนการของการสื่อสารไว้ดังนี้ คือ
             1. ผู้ส่งสาร ( Source ) หมายถึงแหล่งกำเนิดสาร อาจเป็นบุคคล องค์การ สถาบันหรือคณะบุคคลที่เป็นผู้กำหนดสาระ ความรู้ ความคิด ที่จะส่งไปยังผู้รับสาร ดังนั้นการสื่อสารจะบรรลุจุดประสงค์หรือไม่ เพียงใด จึงขึ้นอยู่กับผู้ส่งสาร และสารที่ส่งเป็นสำคัญ
สาร (Message) หมายถึงเรื่องราว ความรู้ความคิดต่างๆ ที่ผู้ส่งประสงค์จะให้ไปถึงผู้รับ มีองค์ประกอบที่เป็นปัจจัยชี้ความสำเร็จของการสื่อสาร 3 ประการ คือ 

                (1) เนื้อหาของสาร 

                (2) สัญลักษณ์หรือรหัสของสาร

                (3) การเลือกและจัดลำดับข่าวสาร
              2. ตัวเข้ารหัสสาร (Encoder) สารที่จะส่งไปยังผู้รับนั้น ปกติเป็นความรู้ความคิดที่ไม่อาจจะส่งออกไปได้โดยตรง จำเป็นต้องทำให้สารนั้นอยู่ในลักษณะที่จะส่งได้ เช่น ทำให้เป็นคำพูด สัญญาณ ภาษาท่าทาง หรือรหัสอื่นๆ การสื่อสารโดยทั่วไปผู้ส่งสาร เช่น เป็นคำพูด หรืออาจจะใช้เครื่องมือสื่อสารต่างๆ เป็นเครื่องช่วย เช่น โทรเลข โทรศัพท์
                 3. ช่องทางการสื่อสาร (Channel) ข่าวสารจากผู้ส่ง จะถูกถ่ายทอดโดยอาศัยสื่อ หรือตัวกลาง (Media) ซึ่งอาจเป็นสื่ออย่างง่าย เช่น การพบปะพูดคุยกันตัวต่อตัว การเขียน การแสดงกิริยาท่าทาง ไปจนถึงการใช้สื่อที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ภาพยนตร์ ฯลฯ
                4. การแปลรหัสสาร (Decoder) คือการแปลความหมายของรหัสสัญญาณที่ส่งมายังผู้รับ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ หากผู้ส่งใช้รหัสสัญญาณที่ผู้รับสามารถแปลความหมายได้เองโดยตรง เช่น ใช้ภาษาที่ผู้รับเข้าใจ การสื่อสารก็จะง่ายขึ้น แต่หากผู้ส่งใช้รหัสสัญญาณที่ผู้รับไม่อาจเข้าใจได้ เช่น ใช้ภาษาที่ผู้รับฟังไม่เข้าใจ การสื่อสารก็จะเพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งย่อมจะส่งผลต่อความสำเร็จของการสื่อสาร
                5. ผู้รับ (Reciever) เป็นจุดหมายปลายทาง (Destination) ของการสื่อสารซึ่งจะต้องมีการรับรู้ เข้าใจ หรือแสดงพฤติกรรม ตามที่ผู้ส่งสารต้องการ หากไม่เป็นไปตามนั้น ก็ถือว่าการสื่อสารนั้นล้มเหลว ผู้รับสารจะต้องมีทักษะการสื่อสาร (Communication Skill) ดีเช่นเดียวกับผู้ส่งสารจึงจะช่วยให้การสื่อสารบรรลุผลสมบูรณ์
                6. ปฏิกิริยาของผู้รับสาร และการตอบสนอง (Response and Feed back) เมื่อผู้รับได้รับสาร และแปลความหมายจนเป็นที่เข้าใจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ผู้รับย่อมจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย เช่นเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย คล้อยตามหรือต่อต้าน ซึ่งการตอบสนองของผู้รับอาจผิดไปจากผู้ส่งต้องการก็ได้ ปฏิกิริยาตอบสนองของผู้รับ หากได้มีการย้อนกลับ( Feed back) ไปยังผู้ส่งสารให้รับรู้ จะช่วยให้เกิดการปรับการสื่อสารให้ได้ผลดียิ่งขึ้น กรณีเช่นนี้เรียกว่า การสื่อสารแบบสองทาง (Two-way Communication)   การตอบสนองของผู้รับสารกลับไปยังผู้ส่งสาร ย่อมจะต้องเกิดกระบวนการสื่อสาร เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้รับจะทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสาร และผู้ส่งสารในตอนแรกจะทำหน้าที่เป็นผู้รับสารแทน ซึ่งจะต้องอาศัยองค์ประกอบต่างๆ ของการสื่อสารเช่นเดียวกับการสื่อสารในขั้นตอนแรก การสื่อสารแบบ 2 ทาง ผู้สื่อสารจะทำหน้าที่ เป็นทั้งผู้รับและผู้ส่งสารพร้อมๆ กัน
 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการสื่อสาร
                        การสื่อสาร มีองค์ประกอบในด้านต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว องค์ประกอบแต่ละด้านล้วนเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้การสื่อสารประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวได้ทั้งสิ้น องค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลอย่างสูงต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการสื่อสาร ได้แก่ คุณสมบัติของผู้สื่อสาร การใช้สื่อและเทคนิควิธี ในการสื่อสาร
การสื่อสารจะประสบผลที่ต้องการเพียงใดนั้น จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สื่อสาร ที่สำคัญ 5 ประการ คือ
                   1. มีความรู้ความสามารถ หากผู้สื่อสารมีความรู้ความสามารถทั่วไปอยู่ในระดับสูง จะมีความเชื่อมั่นในตนเอง รับรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้รวดเร็ว แต่หากผู้สื่อสารมีความรู้ความสามารถต่ำ ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ ย่อมจะต่ำไปด้วย หากผู้ส่งสารและผู้รับสารมีพื้นฐานความรู้แตกต่างกัน กรณีผู้ส่งสาร มีความรู้ ความสามารถสูงกว่าผู้รับสาร จะให้ผลสำเร็จของการสื่อสาร ดีกว่ากรณีผู้ส่งสารมีความรู้ความสามารถต่ำกว่าผู้รับสาร
                    2. มีทักษะในการสื่อสาร คือมีความเชี่ยวชาญ สามารถในการพูด การเขียน การแสดง มีจิตวิทยาการจูงใจสูง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องอาศัยความรู้ความสามารถ และการฝึกฝนตนเองเป็นสำคัญ
                    3. มีเจตคติที่ดี ผู้สื่อสารที่มีเจตคติที่ดีต่อกัน จะช่วยให้เข้าใจซึ่งกันและกันได้ง่ายขึ้น รู้จักวิเคราะห์ความรู้ ความคิด ข่าวสารต่างๆ อย่างเป็นเป็นกลางและมีเหตุผล แต่หากหากผู้สื่อสารมีเจตคติที่ไม่ดีต่อกัน อาจมองกันในแง่ร้ายและบิดเบือนข่าวสาร
                     4. พื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม เนื่องจากสังคม วัฒนธรรม รวมถึง เพศ และอายุ เป็นตัวกำหนดความเชื่อ ความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคม ผู้ที่จะสื่อสารเข้าใจกันได้ดีที่สุดนั้น ได้แก่ผู้ที่มีพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมเหมือนกัน ทั้งผู้รับและผู้ส่ง ผู้สื่อสารที่มีความแตกต่างทางสังคมวัฒนธรรม อาจทำให้การสื่อสารล้มเหลว ทั้งนี้เพราะ การพูดหรือการปฏิบัติอย่างหนึ่งในสังคมหนึ่ง อาจแปลความหมายแตกต่างไปจากอีกสังคมหนึ่ง

 กระบวนการติดต่อสื่อสาร

องค์ประกอบที่สำคัญของกระบวนการสื่อสาร มี 5 ประการ ดังนี้
                    1.  ผู้ส่งสารหรือผู้พูด
                    2.  ข่าวสารหรือเรื่องราวที่พูด
                    3.  ช่องทาง
                    4.  ผู้รับสารหรือผู้ฟัง
                    5.  ปฏิกิริยาตอบสนอง

 

ทฤษฎีและแบบจำลองการสื่อสาร

                   การสื่อสาร เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับ การคิด การรับรู้ การเรียนรู้ของบุคคล และมีความเกี่ยวข้องไปถึงบุคคลอื่นและสังคมด้วย เป็นกระบวนการที่มีความซับซ้อนมีลักษณะเป็นนามธรรม ยากที่จะอธิบายให้ชัดเจนได้ว่า การสื่อสารมีสภาพที่แท้จริงเป็นอย่างไร หรือมีปรากฏการณ์อะไรบ้างที่เกิดขึ้นในกระบวนการสื่อสาร นักวิชาการการสื่อสารได้พยายามศึกษา ตั้งสมมุติฐาน คิดค้นหาคำอธิบาย และสร้างแผนผังหรือแบบจำลองขึ้นมาเพื่ออธิบายลักษณะหรือปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการสื่อสาร ซึ่งแบบจำลองหรือแผนผังเพื่ออธิบายการสื่อสารดังกล่าว ในปัจจุบันมีอยู่เป็นจำนวนมาก สามารถนำมาสรุปเป็นทฤษฏีการสื่อสารที่สำคัญได้หลายทฤษฏี ที่สำคัญ คือ (ธนวดี บุญลือ 2539 : 474-529 )

 

การแบ่งทฤษฎีการสื่อสารสามารถแบ่งออกเป็น 4 แนวทาง คือ
                    1.  ทฤษฎีสื่อสารเชิงระบบพฤติกรรม
                    2.  ทฤษฎีสื่อสารเชิงพฤติกรรมการถอดและเข้ารหัส
                    3.  ทฤษฎีสื่อสารเชิงปฏิสัมพันธ์
                    4.  ทฤษฎีสื่อสารปริบททางสังคม

                         

1    ทฤษฎีเชิงระบบพฤติกรรม
      ให้ความสำคัญกับเรื่องของสื่อหรือช่องทางการสื่อสารสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้คือ
2.1 มุ่งอธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ในการส่งข่าวสาร จากผู้ส่ง ผ่านสื่อหรือช่องทาง ไปยังผู้รับ
2.2 เปรียบเทียบการสื่อสารของมนุษย์ได้กับการทำงานของเครื่องจักร
2.3 การสื่อสารเป็นกระบวนการต่อเนื่อง หรืออาจเป็นวงกลมและเกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นเสมอ
2.4 ความหมายหรือเจตนาการสื่อสาร ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาระหว่างผู้สื่อสารและสถานการณ์แวดล้อม

 

2     ทฤษฎีพฤติกรรมการเข้ารหัสและถอดรหัส
        ทฤษฎีนี้มีความเชื่อว่า สิ่งสำคัญในการสื่อสาร คือ กระบวนการสร้างรหัสและถอดรหัสของผู้สื่อสาร ทั้งผู้รับและผู้ส่งสาร กิจกรรมที่สำคัญของการสื่อสารได้แก่ การแปลเนื้อหาข่าวสารให้เป็นรหัสสัญญาณ (Encoding) การแปลรหัสสัญญาณกลับเป็นเนื้อหา (Decoding) และการแปลความหมายของข่าวสาร (Interpreting) สรุปสาระสำคัญของทฤษฏี ดังนี้ คือ
      1.1 การสื่อสาร เป็นปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นจากความต้องการตรวจสอบและควบคุมสิ่งแวดล้อม
      1.2 กระบวนการสื่อสาร ต้องมีการเข้ารหัส ถอดรหัส และแปลความหมายอยู่ตลอดเวลา
      1.3 การรับรู้ ความรู้สึก ความสนใจ และการจำแนกประเภทข่าวสาร ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบเชิงสรีร เช่น ระบบกล้ามเนื้อ เกี่ยวกับการฟัง การเขียน รวมถึงกระบวนการทางอารมณ์
      1.4 เน้นการศึกษาถึงความสำพันธ์ระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร
      1.5 ระบบสมอง การคิด เป็นปัจจัยสำคัญในการวิเคราะห์ตัดสินว่าสิ่งใดที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง เป็นตัวกระตุ้นให้สนใจที่จะรับสาร

 

3. ทฤษฎีเชิงปฏิสัมพันธ์
      สรุปสาระสำคัญดังนี้ คือ
        3.1 ให้ความสำคัญกับกระบวนการเชื่อมโยง ระหว่างผู้รับและผู้ส่งสาร ซึ่งปกติจะมีความสัมพันธ์ด้วยอำนาจภายนอกและมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายอย่าง
       3.2 การสื่อสารจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน บุคคลิกภาพ ความน่าเชื่อของผู้ส่งข่าวสารเป็นตัวกำหนดปฏิกิริยาของผู้รับสาร
       3.3 พฤติกรรมทั้งหลายของคนเป็นผลมาจากพฤติกรรมทางการสื่อสาร
       3.4 พฤติกรรมต่างๆ ของคนมีอิทธิพลต่อกระบวนการเชื่อมโยงระหว่างผู้รับและผู้ส่งสาร

 

4. ทฤษฎีเชิงบริบททางสังคม
      มีสาระสำคัญดังนี้ คือ
    4.1 เน้นอธิบายเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการสื่อสาร
   4.2 การสื่อสารเกิดขึ้นภายใต้อิทธิพลของปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม
  4.3 กลุ่มสังคม องค์กร มีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อ การตัดสินใจ
  4.4 สังคมเป็นตัวควบคลุมการไหลของกระแสข่าวสาร เมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลงกระแสข่าวสารก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย
ทฤษฎีการสื่อสารทั้ง 4 ทฤษฎีข้างตนเป็นเพียงการนำความคิดของนักวิชาการการสื่อสารมาจัดเป็นกลุ่มความคิดตามความคิดที่เหมือนกันบางประการเท่านั้น ความจริงนักวิชาการแต่ละคน แม้ที่ถูกจัดในกลุ่มทฤษฏีเดียวกันก็มีความแตกต่างกันอยู่มาก ซึ่งแนวความคิดของนักวิชาการสื่อสารต่างๆ สามารถอธิบายได้ด้วยแบบจำลองการสื่อสารของนักวิชาการสื่อสารแต่ละคน

                    
สรุป
                การสื่อสาร หรืออาจเรียกว่า การสื่อความหมาย คือการถ่ายทอด แลกเปลี่ยน ความรู้ ความคิด ระหว่างบุคคล เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเรื่องราวระหว่างกัน ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่จะต้องมีอยู่เสมอในสังคมมนุษย์ การสื่อสารจึงมีความสำคัญทั้งในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล สังคม ธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม การเมืองการปกครอง และการศึกษา การสื่อสารมีพัฒนาการมายาวนานพร้อมๆ กับสังคมมนุษย์ นับตั้งแต่ยุคโบราณ ยุคเกษตรกรรม ยุคอุตสาหกรรม และยุคปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า เป็นยุคของการสื่อสาร เนื่องจากมีความก้าวหน้าในการสื่อสารอย่างสูง สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วทั่วถึงกันทั่วโลก
                  การสื่อสาร เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นโดยมีองค์ประกอบต่างๆ คือ ข่าวสาร ผู้รับ และผู้ส่ง การเข้ารหัส ช่องทางการสื่อสาร การแปลรหัสข่าวสาร และพฤติกรรมหรือผลที่เกิดจากการสื่อสาร การสื่อสารที่ประสบผลสำเร็จสูง ต้องอาศัยคุณสมบัติของผู้รับและผู้ส่งหลายด้านประกอบกันคือ ความรู้ความสามารถทั่วไป มีทักษะในการสื่อสาร มีเจตคติที่ดี และเข้าใจพื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรม นอกจากนี้ยังต้องอาศัยปัจจัยด้าน สื่อและเทคนิคในการสื่อสารด้วย ประเภทของการสื่อสารที่สำคัญแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ การสื่อสารส่วนบุคคล การสื่อสารระหว่างบุคคล และการสื่อสารมวลชน เกี่ยวกับทฤษฎีการสื่อสาร มีผู้ศึกษาและกำหนดทฤษฎีการสื่อสารไว้หลายทฤษฎี จำแนกเป็นกลุ่มที่สำคัญ คือ ทฤษฎีพฤติกรรมการถอดรหัสและการเข้ารหัส ทฤษฎีเชิงพฤติกรรม ทฤษฎีเชิงปฏิสัมพันธ์ ทฤษฎีเชิงบริบททางสังคม การอธิบายทฤษฎีการสื่อสาร อาศัยแบบจำลองที่นักวิชาการต่างๆ คิดขึ้น เช่น แบบจำลองของเบอร์โล แบบจำลองของลาสเวลล์ แบบจำลองของชแรมม์ เป็นต้น

 




 

 

วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556


Conversation about your family.
A : How many brothers and sisters do you have?
ฮาว เมนี บราเธอะซ์ แอนด์ ซิสเทอะซ์ ดู ยู แฮฟว
คุณมีพี่น้องกี่คนครับ
B : I have an older sister and two younger brothers.
ไอ แฮฟว แอน โอลเดอะ ซิสเทอะ แอนด์ ทู ยังเกอะ บราเธอะซ์
A : Do you live with your parents?
ดู ยู ลีฟว วิธ ยัวร์ พาเรนท์ซ
คุณอาศัยอยู่กับพ่อแม่หรือเปล่าครับ
B : Yes, I do. What about you? How many people are there in your family?
เยส, ไอ ดู. วอท อะเบาท์ ยู? ฮาว เมนี พีเพิล อาร์ แดร์ อิน ยัวร์ แฟมิลี?
ใช่ค่ะ แล้วครอบครัวคุณมีกี่คนคะ
A : There are six people in my family; my dad, my mom, my older brother, my younger sister, my twin and I.
แดร์ อาร์ ซิกซ์ พีเพิล อิน มาย แฟมิลี; มาย แดด, มาย มัม, มาย โอลเดอะ บราเธอะ, มาย ยังเกอะ ซิสเทอะ, มาย ทวิน แอนด์ ไอ
ครอบครัวผมมี 6 คนครับ มีคุณพ่อ คุณแม่ น้องชาย น้องสาว คู่แฝดของผม แล้วก็ผมครับ
B: How are your family members?
ฮาว อา ยัวร์ แฟมมิลี เมมเบอะซ์
สมาชิกในครอบครัวคุณสบายดีไหมคะ
A : My parents have got a cold, but the others are fine.
มาย พาเรนท์ซ แฮฟว กอท อะ โคลด์, บัท ดิ อาเธอะซ์ อา ไฟน์
คุณพ่อคุณแม่ของผมเป็นหวัด แต่คนอื่นๆ สบายดีครับ
B : Hope your parents get well soon.
โฮพ ยัวร์ พาเรนท์ซ เกท เวล ซูน
ขอให้คุณพ่อคุณแม่ของคุณดีขึ้นภายในเร็ววันนะคะ
A : Thank you
แธงคิว
ขอบคุณครับ


REFERENCE   me-mypatcที่4:12 AM1 ความคิดเห็น

ป้ายกำกับ:ครอบครัว (The Family)

วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556

short comunication for today
i would like to introduce myself
my name is natthamon sompan.
I am studying Tesol program at Udonthani Ratjaphat University.

การพัฒนาการฟังและดูให้มีประสิทธิภาพ
การดูการฟังเป็นการรับสารที่มีความสำคัญในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน การฟังและการดูโดยทั่วไป มี 2 ระดับ คือ
1. การฟังและดูตามปกติ เป็นการรับสารที่ได้ฟังได้ดู ใช้สมาธิรับรู้สิ่งที่เห็นและได้ยิน ใช้สติปัญญาทำความเข้าใจเรื่องจับประเด็นสำคัญของเรื่อง สรุปย่อเรื่องได้ บรรยายสิ่งที่ดูและฟังได้

2. การฟังและดูอย่างมีวิจารณญาณ ผู้ฟังและดูต้องสามารถวิเคราะห์เรื่องที่ฟัง โดยแยกแยะข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นได้ ใคร่ครวญหาเหตุผล ความน่าเชื่อถือของข้อความ แล้ววินิจสาร ตีความหมายเรื่องว่า ผู้เขียนต้องการส่งสารใดถึงผู้ฟังหรือผู้ดู สาระสำคัญคืออะไร สารรองลงมาคืออะไร สุดท้ายประเมินค่าคือการตัดสินใจเรื่องที่ดูหรือฟังว่าดีหรือไม่ เพียงใด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ขั้นพื้นฐาน การฟังและการดูตามปกติ ได้แก่ ได้ดู ได้ฟัง รับรู้ เข้าใจ
ขั้นสูง การฟังและดูอย่างมีวิจารณญาณ ได้แก่ วิเคราะห์ ใคร่ครวญ วินิจสาร ประเมินค่า นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์